จันทน์ชะมด ๑

Aglaia silvestris (M. Roem.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
สังเครียดคอโง้ง (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้ต้น เปลือกในสีแดงและมียางสีขาว ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๑๑ ใบ เรียงสลับหรือเกือบตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ด้านล่างมีขนและเกล็ดสีเหลืองทองแกมสีน้ำตาล มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือเหนือซอกใบเล็กน้อย ดอกสีเหลืองแกมเขียวอ่อนถึงสีเหลืองเข้ม ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม รูปทรงรี หรือทรงรูปไข่กลับแก่จัดสีเหลืองแกมสีแดง เมล็ดรูปทรงรี สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวฉ่ำน้ำ มี ๑ เมล็ด

จันทน์ชะมดชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๖-๒๐ ม. เส้นรอบวงยาวได้ถึง ๑.๓ ม. กิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแกมแดงอ่อน กิ่งแก่เกลี้ยง เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดหนาเปลือกในสีแดงและมียางสีขาว กระพี้สีน้ำตาลอ่อนแก่นสีน้ำตาลแกมแดงเรื่อ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๒๐-๗๐ ซม. ก้านใบยาว ๘-๑๕ ซม. โคนก้านขยายใหญ่ใบย่อย ๕-๑๑ ใบ เรียงสลับหรือเกือบตรงข้าม ใบย่อยใบปลายมักมีขนาดใหญ่และยาวกว่าใบย่อยใบล่าง ใบย่อยรูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๘-๑๙ ซม. แผ่นใบค่อนข้างหนาหรืออาจบางด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนและเกล็ดสีเหลืองทองแกมสีน้ำตาล ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหางโคนรูปลิ่มหรือแหลม อาจเบี้ยว ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งแต่ไม่จดกัน ทั้งเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เป็นร่องทางด้านบน เส้นใบย่อยแบบเส้นขนานแซมเส้นร่างแห เห็นไม่ค่อยชัด ก้านใบย่อยยาว ๐.๓-๑ ซม. เกลี้ยง

 ดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือเหนือซอกใบเล็กน้อย ช่อยาว ๓๐-๕๐ ซม. ประกอบด้วยช่อย่อยแบบช่อกระจุกจำนวนมาก ก้านช่อย่อยยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. เมื่อยังอ่อนทุกส่วนมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. มีเกล็ดสีน้ำตาลแดงหนาแน่นทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียวอ่อนถึงสีเหลืองเข้ม มี ๕ กลีบ รูปใบหอกกลับ ยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร หลอดเกสรเพศผู้รูปถ้วย ขอบเป็นคลื่นหรือเรียบ อับเรณูติดภายในหลอด ปลายสูงเสมอขอบหลอด ทุกส่วนเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปถ้วยคว่ำหรือค่อนข้างกลมป้อม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลแห้งแตก ทั้งช่อยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ห้อยลง ผลรูปทรงค่อนข้างกลม รูปทรงรี หรือรูปไข่กลับกว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. เปลือกค่อนข้างบาง มีขนและเกล็ดสีน้ำตาล แก่จัดสีเหลืองแกมสีแดงเมล็ดรูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. แข็งสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวฉ่ำน้ำ มี ๑ เมล็ด

 จันทน์ชะมดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบและป่าผลัดใบ บริเวณใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปีแต่จะมีมากเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซียประโยชน์ เนื้อไม้มีกลิ่นหอม ใช้ทำเครื่องเรือน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์ชะมด ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aglaia silvestris (M. Roem.) Merr.
ชื่อสกุล
Aglaia
คำระบุชนิด
silvestris
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roemer, Max Joseph
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roemer, Max Joseph (1791-1849)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
สังเครียดคอโง้ง (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย